โรงงานของเรา

ศูนย์รวมนม สวนจิตรลดา

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงริเริ่มด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ในการก่อเกิดกิจการที่เป็นไปได้จริง ผ่านการศึกษาทดลองจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์โดยพระองค์เอง ทั้งการเลี้ยงโคนม การเก็บรักษาน้ำนมโดยคงคุณภาพที่ดี ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมชนิดต่างๆ เมื่อเกษตรกรหันมาเลี้ยงโคนมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาภาวะน้ำนมดิบล้นตลาดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2512 ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรในการควบคุมคุณภาพและการเก็บรักษาน้ำนมดิบ จึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยอาศัยหลักการถนอมอาหารด้วยความร้อนโดยวิธีการพาสเจอร์ไรส์

ในปี พ.ศ.2516 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดำเนินการจัดสร้างศูนย์รวมนม สวนจิตรลดาเพื่อผลิตนมสดพาสเจอร์ไรส์ เป็นที่ดำเนินการเพื่อให้เป็นแบบอย่างในการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ศูนย์รวมนม สวนจิตรลดาผลิตนมสดพาสเจอร์ไรส์ที่มีข้อแตกต่างจากที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป คือผลิตด้วยนมสดแท้เต็มมันเนยและมีคุณภาพสูง

ในปี พ.ศ.2562 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เห็นความจำเป็นที่จะปรับปรุงพัฒนาสายการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยระบบการผลิตที่ทันสมัย อันเป็นการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด อาชีพพระราชทาน สู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดในนามมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้การสนับสนุนด้านการออกแบบแปลนอาคาร และการก่อสร้างศูนย์รวมนมใหม่ รวมทั้งเครื่องจักรในสายการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ใหม่ทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 367.7 ล้านบาท

ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์รวมนม สวนจิตรลดาแห่งใหม

โรงโคนม สวนจิตรลดา

ประวัติ

ในปีพุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “โรงโคนม สวนจิตรลดา” ขึ้น เพื่อศึกษาค้นคว้า ทดลอง สาธิต และส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และการบริโภคนมสดของชาวไทย จนถือได้ว่าอาชีพเลี้ยงโคนมเป็น อาชีพพระราชทาน จวบจนปัจจุบัน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2562 กรมปศุสัตว์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายการดำเนินการก่อสร้าง โรงโคนม สวนจิตรลดาใหม่ การดำเนินงานของโรงโคนม สวนจิตรลดา ไม่ใช่เพียงแต่เลี้ยงโคนมเท่านั้น ยังมีการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์บราห์มันแดง และกระบือ รวมทั้งกิจกรรมการผลิตน้ำนมหมักชีวภาพ (Biomilk) อีกด้วย

โรงนมยูเอชที สวนจิตรลดา

ประวัติ

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องจากวิกฤตการณ์ภาวะน้ำนมดิบล้นตลาดเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และในช่วงโรงเรียนปิดเทอม เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยังคงต้องเทนมทิ้งกันอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2546 โครงการส่วนพระองค์ฯ จึงได้ดำเนินการสร้างโรงนมยูเอชที สวนจิตรลดาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรเป็นแนวทางแก้ไขภาวะน้ำนมดิบล้นตลาด และเป็นต้นแบบในการผลิตนมยูเอชทีจากนมโคสด 100% ช่วยให้เด็กได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งให้ความรู้กับนักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2546

ในปี พ.ศ. 2562 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ดำเนินงานโครงการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนมยูเอชที สวนจิตรลดา และเริ่มทำการผลิตเพื่อจำหน่ายในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

โรงงานแปรรูปนม โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

ประวัติ

โรงงานแปรรูปนม โครงการชั่งหัวมันฯ เริ่มดำเนินการในปีพุทธศักราช 2558 โดยการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในโครงการพระราชดำริ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำมาผลิตเป็นนมพาสเจอร์ไรส์และสเตอริไลส์ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์นม “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” รวมทั้งการผลิตไอศกรีม Soft serve โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสาธิตการแปรรูปเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำนมดิบ ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์นม

โรงนมผง สวนดุสิต

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิเคราะห์อย่างรอบคอบ รัดกุม การสร้างโรงนมผง สวนดุสิตเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำแนวคิดใหม่ เพื่อไปคลี่คลายวิกฤตปัญหานมดิบล้นตลาดจนเกษตรกรต้องนำไปทิ้ง เป็นผลกระทบจากเรื่องกลไกราคา หากราคานมผงในต่างประเทศมีราคาถูกลง ในบางฤดูผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศจะเลือกซื้อนมผงมาละลายน้ำแทนการใช้น้ำนมดิบ อันเป็นการลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงนมผงขนาดย่อมขึ้น ซึ่งเป็นโรงงานนมผงแห่งแรกของประเทศไทย ในเวลานั้นเมืองไทยยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตนมผง จึงต้องคิดเทคโนโลยีและออกแบบระบบการผลิตเอง โดยมีหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์  เทวกุล เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างถวาย โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เบื้องต้นเป็นจำนวน 354,000.00 บาท และเสด็จฯ ทรงเปิดโรงนมผง สวนดุสิต เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2512  การผลิตนมผงเป็นการเพิ่มทางเลือกในด้านการแปรรูปและจำหน่าย และเป็นกระบวนการเรียนรู้ อันนำมาซึ่งการสร้างมาตรฐานการผลิต โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในอีกทางหนึ่งยังเป็นโครงการทดลองต้นแบบสาธิตให้กับผู้ที่สนใจจะนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เป็นไปได้จริง และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคต

 นมผงจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา อาจมีจำหน่ายไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งเป็นไปตามพระราโชบายในการศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่การค้า แต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งจนกล่าวได้ว่า การตั้งโรงนมผง สวนดุสิต เป็นโครงการที่สำคัญมากโครงการหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นการบูรณาการกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ากับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำทรัพยากรที่ได้จากการผลิตไปต่อยอดใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า จนพัฒนานมผงไปเป็นนมอัดเม็ดของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  

ในปีพ.ศ. 2562 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา  ได้สืบสานและต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนมผง โดยดำเนินการปรับปรุงโรงนมผง สวนดุสิต เนื่องจากอาคารเดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เครื่องจักรมีอายุการใช้งานนานกว่า 49 ปี ส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงอาคารและเครื่องจักรใหม่

โรงเนยแข็ง สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงเนยแข็ง สวนจิตรลดา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เพื่อน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาห้ารอบ (60 พรรษา) เป็นจุดริเริ่มการศึกษาเรื่องการผลิตเนยแข็งประเภทเนยแข็งเกาดา และเนยแข็งเชดดาร์ ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมเป็นอาชีพต่อไป ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานชื่อเนยแข็งที่ผลิตว่า “เนยแข็งมหามงคล”

การผลิตเนยแข็งของโรงเนยแข็ง สวนจิตรลดา เป็นการแปรรูปทางการเกษตรจากน้ำนมวัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประสงค์ให้เป็นโรงงานต้นแบบ ไว้ให้เกษตรกรหรือบุคคลที่สนใจ ศึกษาดูการผลิตเนยแข็งว่าทำอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบที่ทำให้เห็นกระบวนการผลิตชัดเจนว่า นมโคซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรนั้นสามารถแปรรูปเป็นเนยแข็งได้อีกทางหนึ่ง

โรงเนยแข็ง สวนจิตรลดา ได้ค้นคว้าและพัฒนาต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ผลิตโยเกิร์ตนมสด ชนิดคงตัว (set yoghurt) ผลิตจากนมสดไม่มีการเติมสารให้คงตัว มีเนื้อโยเกิร์ตคงตัวไม่เหลว รสชาติเนื้อสัมผัสเนียนแน่นละเอียด กลิ่นหอมของนมโคแท้ ผลิตด้วยกรรมวิธีพิเศษด้วยการเติมเชื้อแบคทีเรียประเภทที่ดี คือ แลกติกแอซิด แบคทีเรีย เกิดการหมักบ่มโดยตรงในถ้วยจึงช่วยรักษาคุณสมบัติธรรมชาติ ของเชื้อแบคทีเรียประเภทดีที่มีชีวิตอยู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ในปี พ.ศ. 2562 โรงเนยแข็ง สวนจิตรลดา เห็นความจำเป็นที่จะปรับปรุงพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นมประเภทเนยแข็ง โยเกิร์ต ไอศกรีมและนมข้นหวาน โดยนำเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสามารถผลิต ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในนามมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้การสนับสนุน เครื่องจักรในสายการผลิตเนยแข็ง โยเกิร์ต ทั้งหมดรวมค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 98,621,985.00 บาท

โรงไอศกรีม สวนจิตรลดา

ประวัติ

ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบ 5 รอบในปี พ.ศ. 2530 บริษัท ซี.ซี.ฟรีสแลนด์ น้อมเกล้าถวายเครื่องผลิตเนยแข็ง ขนาด 200 ลิตร เป็นจุดริเริ่มการค้นคว้าและทดลองการผลิตเนยแข็ง พัฒนาต่อยอดมาจนถึง การผลิตไอศกรีมนม คุณภาพสูง และนมข้นหวานที่มีส่วนผสมของไขมันเนยแท้ ออกจำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อสนองแนวพระราโชบายที่จะให้คนไทย โดยเฉพาะเด็กๆ ได้รับประทานของคุณภาพดีในราคาไม่แพง ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดใดล้วนแปรรูปมาจากวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำนมคุณภาพดีมีคุณค่าทางโภชนาการที่ช่วยรับซื้อจากเกษตรกร

ในการผลิตไอศกรีมนม โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2532 โดยใช้ครีมสด (ครีมที่ได้จากนมสด) เป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิต ซึ่งการผลิตไอศกรีมทั่วไปมักใช้ครีมจากไขมันเนยหรือไขมันมะพร้าว แต่ไอศกรีมนม จิตรลดาใช้ครีมจากนมสดจึงได้ไอศกรีมนมที่มีรสชาติหอมอร่อยและสดกว่าทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีอัจฉริยภาพเฉียบคมในการริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยพระองค์มองไปถึงตำรวจตระเวนชายแดน ถ้าบริโภคนมข้นหวานแบบกระป๋องจะต้องมีที่เปิดแล้วต้องมีที่เก็บ ซึ่งไม่สะดวกต่อเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ พระองค์จึงทรงรับสั่งให้หาวิธีทำอย่างไรจึงจะสะดวกในการบริโภคนมข้นหวาน จึงเป็นแนวคิดให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นค้นคว้าทดลอง และออกจำหน่ายครั้งแรกในราวเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2537 ในการออกจากจำหน่ายครั้งแรกได้สร้างมิติใหม่ให้กับวงการนมข้นหวานของเมืองไทย โดยการเปลี่ยนรูปโฉมบรรจุภัณฑ์ของนมข้นหวานมาใส่หลอดลามิเนตหรือหลอดบีบแทนบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องที่คุ้นเคยกันมายาวนาน การผลิตนมข้นหวานในหลอดบีบเป็นอีกตัวอย่างด้านอุตสาหกรรมที่พระองค์มีส่วนบุกเบิกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงการอุตสาหกรรมนมของเมืองไทย

ในปี พ.ศ.2562 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เห็นความจำเป็นที่จะปรับปรุงพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากนมได้แก่ ไอศกรีม นมข้นหวาน เนยแข็งและโยเกิร์ต โดยนำเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในนามมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้การสนับสนุนเครื่องจักรในสายการผลิตไอศกรีมใหม่ทั้งหมด

โรงนมเม็ด สวนดุสิต

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีแนวคิดในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ในกระบวนการพ่นนมให้เป็นผงนั้นบางส่วนจะเกิดผงนมขนาดใหญ่ทำให้การละลายไม่ดี ไม่สามารถบรรจุเป็นนมผงได้ แต่นมส่วนนั้นมีคุณค่าทางอาหาร จึงทรงให้ทำการทดลองผลิตทอฟฟี่รสนม แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมาจึงเปลี่ยนมาทดลองผลิตนมอัดเม็ด โดยเริ่มทดลองในปี พ.ศ. 2521 มีบริษัท เทวกรรมโอสถ ช่วยในการอัดเป็นเม็ด แต่ทำได้เพียงระยะเวลาช่วงสั้นๆ ก็ต้องระงับไป ต่อมาในปลายปี  พ.ศ. 2527 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้เริ่มทำการผลิตนมอัดเม็ดอีกครั้ง เนื่องจากผงนมขนาดใหญ่มีปริมาณมาก โดยทดลองใช้เครื่องตอกเม็ดยาแบบทีละเม็ด และทดลองหาสูตรของส่วนผสมที่เหมาะสม โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก หม่อมหลวงอัคนี  นวรัตน์ ได้ให้คำแนะนำในการผลิตนมเม็ด ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องผนึกซอง  จนสามารถดำเนินการผลิตนมเม็ดขึ้นได้  

ต่อมาในปี พ.ศ. 2528  เภสัชกรมงคลศิลป์  บุญเย็น  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์  ธีรพงษ์  จากคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพนมเม็ดจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค พร้อมได้มอบเครื่องตอกนมเม็ดชนิดสากเดี่ยวจำนวน 1 เครื่อง 

โรงน้ําดื่ม สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงน้ำดื่ม สวนจิตรลดา เป็นการผลิตที่ต่อยอดมาจากการผลิตนมผง เป็นแบบอย่างการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หลากผลิตภัณฑ์ที่ตั้งต้นมาจากน้ำนมดิบ  ซึ่งในกระบวนการผลิตนมผงนั้นมีขั้นตอนการระเหยเพื่อเอาน้ำออกจากน้ำนม แล้วจึงนำไปพ่นทำละอองแห้ง  น้ำที่ได้จากกระบวนการระเหยนม (Condensate) นั้นนำมาผลิตเป็นน้ำดื่ม  เนื่องจากน้ำ Condensate มีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง และมีปริมาณมากพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำกลั่น เพื่อใช้เติมแบตเตอรี่รถยนต์ชนิดตะกั่วกรด 

ในปี พ.ศ.2530 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพน้ำกลั่นที่ได้ เพื่อให้ได้น้ำที่มีความบริสุทธิ์ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสามารถนำมาใช้บริโภคอย่างปลอดภัย 

    ในปัจจุบันน้ำดื่ม โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้มีการปรับปรุงคุณภาพโดยการกรองผ่านเมมเบรนด้วยระบบรีเวอร์สออสโมซีส (RO) และผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลตและโอโซน มีขั้นตอนควบคุมคุณภาพ ควบคุมกระบวนการผลิต รวมถึงการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพสำหรับผู้บริโภค

โรงน้ำผึ้ง สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงน้ำผึ้ง สวนจิตรลดา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2534 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรและสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้ง โดยรับซื้อน้ำผึ้งจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ภาคเหนือ และส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคน้ำผึ้ง

โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ สวนจิตรลดา ได้เริ่มทดลองการผลิตในปีพุทธศักราช 2527 โดยใช้เครื่องพาสเจอร์ไรส์ที่ศูนย์รวมนมมาทดลองผลิตน้ำส้ม และน้ำอ้อยในช่วงแรก ต่อมาในพุทธศักราช 2532   โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ได้สร้างอาคารใหม่ พร้อมทั้งรับโอนเครื่องพาสเจอร์ไรส์จากงานศูนย์รวมนม มาติดตั้ง    เพื่อใช้ในการผลิตน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ เพื่อจำหน่ายในช่วงต้น ได้แก่ น้ำมะม่วง และน้ำอ้อย

โรงผลิตภัณฑ์สเตอริไลส์ สวนจิตรลดา


ประวัติ

โรงผลิตภัณฑ์สเตอริไลส์ สวนจิตรลดา มีวิวัฒนาการจากโรงผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋อง ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปลายเดือนมกราคม พุทธศักราช 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานขนาดเล็ก และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2535 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงเปิดโรงงานผลิตน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องซึ่งน้ำผลไม้ชนิดแรกที่โรงงานผลิต คือ น้ำมะม่วงบรรจุกระป๋อง 

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2563 มีแผนพัฒนาการปรับปรุงโรงงานใหม่ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสเตอริไลส์ บรรจุกล่องกระดาษ ที่เรียกว่า Tetra recart เพื่อพร้อมรับประทานได้ทันที ซึ่งจะมีผลิตภัณฑต่างๆ ได้แก่ โจ๊กไก่ โจ๊กลูกชิ้นไก่ เป็นต้น

โรงสาหร่ายแปรรูป สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงสาหร่ายแปรรูป สวนจิตรลดา ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529 จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำกากมูลหมัก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตแก๊สชีวภาพ มาใช้เลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองรวมทั้งศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลา ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองในปีพุทธศักราช 2540 เพื่อนำไปพัฒนาเป็นสาหร่ายเกลียวทองสำหรับบริโภคและแปรรูป ในปีพุทธศักราช 2541 สาหร่ายเกลียวทองที่เลี้ยงได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แคปซูลสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนที่ย่อยและดูดซึมได้ง่าย มีสารต้านอนุมูลอิสระ ในปีพุทธศักราช 2547 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นข้าวเกรียบสาหร่ายเกลียวทอง ในปี 2563 ได้มีการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรให้มีความทันสมัย โดยเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นขนมขบเคี้ยวสาหร่ายเกลียวทอง

โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง สวนจิตรลดา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2527 โดยเริ่มต้นทดลองผลิตภัณฑ์อบแห้ง เช่น กระเทียม กล้วย มะเขือเทศ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2543 มีการทดลองนำผลไม้อบแห้ง ที่เหลือจากการตัดแต่งส่วนที่ไม่ได้ขนาด มาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ขนมอบ เช่น คุกกี้ผลไม้ เค้กผลไม้ เค้กกล้วยตาก เป็นต้น

ในปี 2563 ได้มีการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรให้มีความทันสมัย สามารถผลิตผลิตภัณฑ์อบแห้งและขนมอบให้มีความหลากหลายมากขึ้น

โรงแปรรูปสมุนไพร

ประวัติ


ในปีพุทธศักราช 2531 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้จัดสร้าง “โรงเพาะเห็ด สวนจิตรลดา” ขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สำหรับการเพาะเห็ด ศึกษาชนิดและสายพันธุ์ของเห็ดที่ต้านทานโรค และให้ผลผลิตสูง โดยเห็ดที่ทำการเพาะเลี้ยง ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า และเห็ดหลินจือ แต่ปรากฏว่ามีผู้ต้องการบริโภคเห็ดหลินจือเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่มีสรรพคุณทางยา และบำบัดโรค ได้แก่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รักษาโรคภูมิแพ้ โรคมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด และลดความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้นในปีพุทธศักราช 2541 จึงเริ่มสาธิตการผลิตเห็ดหลินจือบรรจุแคปซูลเป็นยาแผนโบราณ และในปีพุทธศักราช 2551 ได้มีการผลิตเห็ดหลินจือผสมเห็ดหัวลิงบรรจุแคปซูลเช่นกัน

โรงสีข้าวตัวอย่าง สวนจิตรลดา

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงสีข้าวตัวอย่าง สวนจิตรลดา ขึ้นในปีพุทธศักราช 2514 เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเก็บรักษาข้าวและการสีข้าวให้ได้ผลดี ปีพุทธศักราช 2562 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ น้อมเกล้าฯ ถวายการก่อสร้างอาคารโรงสีข้าวตัวอย่างแห่งใหม่ โดยการออกแบบโรงสีข้าวตัวอย่างนี้ เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตของระบบ GMP เพื่อเป็นการสาธิตการผลิต ผลิตภัณฑ์จากข้าวให้ได้มาตรฐานที่ดีมีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

โรงหล่อเทียนหลวงและกระดาษสา สวนจิตรลดา

ประวัติ

โรงหล่อเทียนหลวงและกระดาษสา สวนจิตรลดา ได้เริ่มดำเนินการในปีพุทธศักราช 2529 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตเทียนขี้ผึ้งแท้ที่มีคุณภาพใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ ของสำนักพระราชวัง เป็นการลดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อเทียน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2535 ได้สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เพื่อใช้เป็นสถานที่ผลิตกระดาษสาแบบครบวงจร

โรงแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์

ประวัติ

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทรงตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อปีพุทธศักราช 2528 ได้มีพระราชกระแสให้โครงการส่วนพระองค์ฯ ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลนหรืออ้อยราคาตกต่ำ จำเป็นต้องนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน และได้ขยายผลโดยการนำเอทธิลแอลกอฮอล์มาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การทำแอลกอฮอล์เจล สเปรย์ฉีดเท้า น้ำมันนวดตัว และสบู่ใสผสมสารสกัดธรรมชาติจากใบโอลีฟ เป็นต้น