โรงนมผง สวนดุสิต

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิเคราะห์อย่างรอบคอบ รัดกุม การสร้างโรงนมผง สวนดุสิตเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำแนวคิดใหม่ เพื่อไปคลี่คลายวิกฤตปัญหานมดิบล้นตลาดจนเกษตรกรต้องนำไปทิ้ง เป็นผลกระทบจากเรื่องกลไกราคา หากราคานมผงในต่างประเทศมีราคาถูกลง ในบางฤดูผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศจะเลือกซื้อนมผงมาละลายน้ำแทนการใช้น้ำนมดิบ อันเป็นการลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงนมผงขนาดย่อมขึ้น ซึ่งเป็นโรงงานนมผงแห่งแรกของประเทศไทย ในเวลานั้นเมืองไทยยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตนมผง จึงต้องคิดเทคโนโลยีและออกแบบระบบการผลิตเอง โดยมีหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์  เทวกุล เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างถวาย โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เบื้องต้นเป็นจำนวน 354,000.00 บาท และเสด็จฯ ทรงเปิดโรงนมผง สวนดุสิต เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2512  การผลิตนมผงเป็นการเพิ่มทางเลือกในด้านการแปรรูปและจำหน่าย และเป็นกระบวนการเรียนรู้ อันนำมาซึ่งการสร้างมาตรฐานการผลิต โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในอีกทางหนึ่งยังเป็นโครงการทดลองต้นแบบสาธิตให้กับผู้ที่สนใจจะนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่เป็นไปได้จริง และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคต

 นมผงจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา อาจมีจำหน่ายไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งเป็นไปตามพระราโชบายในการศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่การค้า แต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งจนกล่าวได้ว่า การตั้งโรงนมผง สวนดุสิต เป็นโครงการที่สำคัญมากโครงการหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นการบูรณาการกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ากับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำทรัพยากรที่ได้จากการผลิตไปต่อยอดใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า จนพัฒนานมผงไปเป็นนมอัดเม็ดของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  

ในปีพ.ศ. 2562 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา  ได้สืบสานและต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตนมผง โดยดำเนินการปรับปรุงโรงนมผง สวนดุสิต เนื่องจากอาคารเดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เครื่องจักรมีอายุการใช้งานนานกว่า 49 ปี ส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงอาคารและเครื่องจักรใหม่